วัดพระธาตุดอยเกิ้ง ตั้งอยู่บนยอดดอยเกิ้ง เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติยาวนาน ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกว่าเหตุที่ได้ชื่อดอยเกิ้งเพราะ ขุนแสนทองได้นำเกิ้ง(สัปทน)กางกั้นให้พระพุทธเจ้า เป็นปูชนียสถานที่นับถือของชาวดอยเต่าและชาวฮอด มีการบูรณะหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญสุดคือการบูรณะของครูบาเจ้าศรีวิไชย ในปี พ.ศ. 2463-2464
ในสมัยพระแม่เจ้าจามเทวี ก่อนที่จะเสด็จขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย ตามคำเชิญของพ่อฤาษีโสนันโท เมื่อวันเดือนออก ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปี ใส (มะเส็ง) พ.ศ.๑๒๐๐ นับมาถึงปัจจุบันนี้ ปีพ.ศ.๒๕๕๕ ล่วงมาแล้วเป็นเวลาถึง ๑,๓๕๕ ปี
ในสมัยพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้สร้างถนนจากแม่น้ำปิงขึ้นสู่พระบรมธาตุดอยเกิ้ง ระยะทาง ๔ กิโลเมตร พระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้งนี้ ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๒ โดยพระครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นองค์ประธาน
เป็นเวลาเดียวกันกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาที่วัดพระบรมธาตุดอยเกิ้งและได้แวะเยี่ยมนมัสการครูบาเจ้า ครูบาเจ้าได้มอบพระพุทธรูปที่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงขุดได้ ในขณะนั้นซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองเหลืองหล่อแบบทรงอินเดีย และพระพิมพ์ลำพูนอีก ๑ องค์ ซึ่งสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มอบไว้ให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในขณะนั้นแล้ว
ครั้นลุมาถึงปี พ.ศ.๒๕๐๗ ทางการได้สร้างเขื่อนภูมิพลกั้นลำน้ำแม่ปิง ที่จังหวัดตาก เป็นเหตุให้น้ำท่วมเอ่อมาถึงเขตอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านได้อพยพหนีน้ำท่วมกระจัดกระจายไปเป็นเหตุให้พระบรมธาตุดอยเกิ้งรกร้างไป กรมศิลปากรได้มาขุดเอาของมีค่าต่างๆ ตามวัดวาอารามต่างๆ ทุกวัดที่จะถูกน้ำจะท่วม รวมถึงพระบรมธาตุดอยเกิ้งด้วยและยังมีคนได้พากันมาขุดเจาะพระบรมธาตุเจดีย์เอาของมีค่าต่างๆ ไป และได้ลอกเอาจังโก๋ที่ติดรอบๆ องค์พระบรมธาตุไป
ต่อมาคณะสงฆ์ทั้งอำเภอฮอดและอำเภอดอยเต่าโดยมีพระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) เจ้าคณะอำเภอฮอด เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะสมณะศรัทธาและมูลศรัทธาทั้งหลาย ได้พากันไถทางขึ้นสู่พระบรมธาตุดอยเกิ้ง จากหมู่บ้านห้วยหินดำ ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๒ รถไถทางเสร็จเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๓ เป็นระยะทางทั้งสิ้น ๑๔ กิโลเมตร
ได้ทำพิธีเปิดถนนและสรงน้ำพระบรมธาตุดอยเกิ้ง เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ถึง ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๓ หลังจากนั้นก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้ง โดยคณะสงฆ์ทั้งสองอำเภอโดยมีเจ้าคณะอำเภอทั้งสองอำเภอเป็นประธาน หลังจากนั้นมาพระบรมธาตุก็รกร้างว่างเปล่ามาเป็นเวลานาน เสนาสนะทั้งหลายที่สร้างไว้ก็ถูกไฟไหม้เป็นส่วนมาก เหลือเพียงแต่พระบรมธาตุดอยเกิ้งที่ถูกขุดเจาะทำลาย วิหารเก่า สมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย สร้าง ๒ หลัง ศาลาหลังพระธาตุเจดีย์อีก ๑ หลัง ศาลาไม้อีก ๑ หลัง ซึ่งล้วนแต่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมากตามกาลเวลา
จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๙ พระอาจารย์บุญศรี อภิปุณฺโณ ได้เดินธุดงค์มาพบและได้อยู่ภาวนาที่นี่และพระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ได้ขอให้มาอยู่ประจำรักษาพระบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้งจนถึงปัจจุบันและได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุเจดีย์ตลอดถึงเสนาสนะต่างๆ สร้างถนนคอนกรีตระยะทาง ๑๔ กิโลเมตร ต่อน้ำประปาภูเขามาใช้เป็นระยะทาง ๘ กิโลเมตร โดยปัจจุบันนี้ได้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี และมีพระภิกษุ สามเณร แม่ชี อยู่ประจำ ประมาณ ๓๕ รูป/คน
ตลอดปีได้มีนักปฏิบัติธรรม กรรมฐาน เข้ามาปฏิบัติไม่ขาด และได้ยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ จัดงานฉลองสมโภชครั้งใหญ่เมื่อวันที่ ๒๔ – ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ โดยมีพระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระอธิการบุญศรี อภิปุณฺโณ เจ้าอาวาสวัดดอยเกิ้งเป็นตัวแทนคณะศรัทธาทั้งหมดถวายสิ่งก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างมารวมเป็นมูลค่าประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท ไว้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาต่อไป เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๓๙ น
งานประจำปี ของวัดพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง
– งานสรงน้ำพระบรมธาตุดอยเกิ้ง วันเพ็ญเดือน ๓ ของทุกปี
– งานเข้าปริวาสกรรม หลังจากออกพรรษาแล้ว ๓ วัน
– งานสลากภัตรประจำปีในพรรษา
– มีการสวดมนต์ เจริญภาวนา เวียนเทียน และปฏิบัติกรรมฐาน ตลอดทั้งปี
รายนามเจ้าอาวาสพระบรมธาตุดอยเกิ้ง พระอธิการบุญศรี อภิปุณฺโณ ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๒๙ ถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๕)
วัดพระบรมธาตุดอยเกิ้ง โทร.๐๘๑-๙๕๒๐๕๕๒, ๐๘๑-๗๖๔๘๓๐๗ เจ้าอาวาส
ซอคร่าวเชียงแสน เป็นตำนานเรื่องพระสีวิไชยวัดบ้านพาง แต่งโดย พระท้าวสุนทรพจนกิจ (ใหม่บุญมา) มหาสิงฆะ วรรณสัย ปริวรรต ได้กล่าวถึงการบูรณะพระธาตุดอยเกิ้งที่รกร้างของครูบาเจ้าศรีวิไชยและการสร้างถาวรวัตถุของเหล่าศรัทธาทั้งหลายต่างๆ ดังนี้
……..จักชี้แจง…….หื้อแจ้งแน่ครัก………………ตามท่านได้หมายนา
เมื่อพระพุทธะ……ศก๖๓………………………..พระทรงนาม……….สีลใสผ่องแผ้ว
ไปสร้างเขาเขียว………เมืองยาวกู่แก้ว……….อยู่แขวงลำปางหัวน้ำ
.
……..ร้อยรูเพีย…….ท่านชูช่วยค้ำ………………กับวัดไก่แก้วเมืองยาว
ร้อยแถบทัด……ล้วนเงินขาวๆ…………………..ดอยเต่าสบลี้……….แช่ห่มนั้นอั้น
๖๐รูเพีย………เป็นตราแม่นหมั้น……………….ลวดกลับลำพูนสำนัก
.
……..ยั้งผ่อนกาย…….สบายเหนื่อยพัก……….แล้วบังเกิดด้วยสัทธา
ดวงจิตคิดไว้……ใคร่ไปไหว้สา…………………..ที่ฐปันนา……….พระธาตุดอยเกิ้ง
จึงหานาวา………ด้วยใจหลิ่งเสิ้ง……………….ล่องลงเทิงดอยน้อย
.
……..จุฬคีรี…….นามมีบ่คล้อย………………….พระยอดสร้อยวันทา
พักที่นั้น……คืนหนึ่งเป็นตรา…………………….คันรัตติยา……….รุ่งมาแล้วอั้น
นาวาเดิน………รีบเร็วจั้นๆ………………………ตามลำพิงแม่น้ำ
.
……..ชนบท…….ผดหลายล่วงล้ำ………………ลงรอดหั้นจอมทอง
ลวดพักยั้ง……กะเตรียมสิ่งของ…………………ยกไปทาน……….พระธาตุเจ้า
เครื่องครัวทาน………แห่งพระผ่านเผ้า………..หลายอันมีใส่พร้อม
.
……..ปริกขาร…….ทูนทานนอบน้อม……………ถวายธาตุเจ้าจอมทอง
ท่านทานเสร็จแล้ว……คลาดแคล้วเถิงถอง….ล่องลงไป……….อี่ลิงบ้านห้วย
๒๕๐………ทานพระบาทด้วย……………………พักนอนคืนนึ่งเล้า
.
……..รัตติยา…….รุ่งขึ้นยามเช้า………………….เรือล่องเต้าลงไป
ตามร่อมน้ำ……แม่พิงคำใส………………………ไปพักนอน……….พระบาทแก้วเข้า
แปดร้อยรูเพีย………ของท่านธุเจ้า………………ท่านทำบุญบ่ละ
.
……..สร้างวิหาร…….พุทธปาทะ…………………ที่เมืองหอดหั้นเรืองไร
เลยล่องท้าง……ตามแม่พิงใส…………………..ล่องลงไป……….รอดเถิงดอยเกิ้ง
ที่ดวงใจใส………สัทธาหลิ่งเสิ้ง…………………เริ่มทำบุญธาตุพระ
.
……..ปฏิสังขรณ์…….พระเจติยะ………………ฐานใหญ่กว้าง๖วา
ทังสูงส่งพ้น……ขึ้นบนเวหา…………………….๑๒วาดี……….ลวงสูงธาตุเจ้า
ฉัตรมุงบน………เป็นชั้นพอ๙…………………….สวยงามเลาใช่ช้า
.
……..ทองจังโก…….ติดคำร่ามฟ้า………………ใสสว่างหน้าควรแยง
เหมือนอินท์เทพทิพ……มาแต่งมาแปลง……..ปุนดีแยง……….นบน้อมกราบเฝ้า
ที่ฐปันนา………พระธาตุเจ้า………………………อันฝูงเทพานระ
.
……..หากไปสักการ…….ไปทานธาตุพระ……..นบกราบไหว้ปูชา
ด้วยวิริยะ……และอุสสหา………………………..ในเจตนา……….ท่านเป็นเค้าเหง้า
สังรวมเงิน………ที่สวาธุเจ้า………………………ส่วนทำบุญไม่น้อย
.
……..มีหมื่น๖พัน…….เสษปลาย๙ร้อย………..๓๔เสี้ยงการทาน
กับธุอินทะ……สร้างพระวิหาร…………………..ทังท้าวก่ำแพง……….หมู่บ้านงิ้วเถ้า
ภยาสุจจริต………ท่าเดื่อร่วมเข้า……………….ทังนางแค้มบ้านชั่งแปลงทาน
.
……..เขาหมู่นี้…….สร้างพระวิหาร……………..๓ห้องเชียงคราน……..เครื่องไม้สักเสี้ยง
เสาก่อด้วยดิน……ปักเขตเลี่ยนเกลี้ยง………..สวยชินเชียงบ่ช้า
.
……..มุงดินขอ…….ปานลมช่อฟ้า………………ประดับดอกด้วยหลายพาย
เสี้ยงเงินบ่น้อย……๕ร้อยยังปลาย……………..๕แถบเนอนาย……….เท่านั้นเนอเจ้า
ท้าวก่ำแพง………หมู่บ้านงิ้วเถ้า…………………จินดาเซาใฝ่มัก
.
……..ได้ชวนเพื่อนฝูง…….บำรุงจ่องชัก………….คิดร่ำสร้างสาลา
นายสีบ้านชั่ง……นายดีมืดก๋า…………………….ทังนายคำพา……….บ้านหนองอี่ปุ้ม
เสาไม้จิง………ได้ปกยกตุ้ม……………………….หลังคามุงแผ่นไม้
.
……..กระยาเลย…….พื้นแป้นลวาดไว้…………..ฝาก็แป้นทังมวล
เสี้ยงเงินบ่น้อย……๓ร้อยตระหมวน……………..สาลาทังมวล……….ท่านแปลง๕ห้อง
ดีธุยาง………ใจจงเจตข้อง………………………….กองบุญทานบ่ละ
.
……..พร้อมเพียงกัน…….ทังธุอินทะ………………นายองไก่บ้านองแซ
หน่อแก้วท่งน้อย……เจริญใจแฝ…………………..สร้างสาลาทาน……….หลังหนึ่งดีแหน้น
เสาไม้จิง………พื้นแป้นฝาแป้น……………………หลังคามุงแผ่นไม้
.
……..กะยาเลย…….๕ห้องปลูกไว้………………..ดีใช่หน้อยโสภา
เสี้ยงเงินบ่น้อย……๓ร้อยเป็นตรา………………..ปลายซาวแทงคา……….จดหมายไว้หมั้น
นายก้อนกำนัน………เมืองตืนนั้นอั้น…………….กำนันทังลูกน้อง
.
……..พร้อมใจกัน…….หมู่ชุมเพื่อนพ้อง………….ทุกใหญ่หน้อยชายยิง
สาลาสร้างไว้……ด้วยเสาไม้จิง……………………เครื่องกะยาเลย……….หึกหนาหนืดแหน้น
ขื่อแปกอน………พื้นแป้นฝาแป้น…………………หลังคามุงแผ่นไม้
.
……..รัชฏา…….ได้เสี้ยงทานไว้……………………๒ร้อยแถบถ้วนเป็นทาน
กับธุอินทะ……ได้สร้างวิหาร……………………….หลังนึ่งเชียงคราน……….ปัญจะ๕ห้อง
เครื่องไม้สัก………ประดับหยั่นหย้อง…………….ติดคำงามใช่ช้า
.
……..ติดพานลม…….ใส่ทังช่อฟ้า…………………ผายแผ่หน้างามงอน
เสาถัมภะ……ก่อดินสลอน…………………………ปังเอกลาภอน……….ขาวใสบ่เส้า
มุงแป้นเก็ด………กั้นกางพระเจ้า…………………สวยงามเลาใช่น้อย
.
……..เสียงรัชฏา…….แทงคา๗ร้อย………………..บ่หยุดหย่อนห้อยลงมา
นายหมูนึ่งนั้น……มีนามเป็นตรา………………….ได้สร้างสาลา……….หลังนึ่งไว้ด้วย
ทังนายเขียว………บ้านสบหอดห้วย……………..เป็นเพื่อนทวยท่านไธ้
.
……..ใส่เสาไม้จิง…….๔ห้องเครื่องไม้…………….มุงใส่แป้นฝาดี
เสี้ยงเงินบ่น้อย……๒ร้อยรูปี๋………………………..๕๔มี……….ท่านแปลงแต่งสร้าง
นายเผือกใจใส………นายใหม่ใจกว้าง……………คิดสาลาทานธาตุพระ
.
……..พร้อมด้วยกัน…….ทังธุอินทะ………………..ได้คิดแต่งสร้างสาลา
๕ห้องมีไว้……เครื่องไม้เสาหนา…………………….กะยาเลย……….พื้นแป้นฝาแป้น
หลังคาบน………มุงจิมถี่แหน้น……………………..ฉายาดีชื่นช้อย
.
……..เสี้ยงหิรัญญา…….แทงคา๓ร้อย……………..บ่หยุดหย่อนหั้นลงมา
สุกระ……นายหมูมืดก๋า………………………………ฐานอุจรา……….หลังนึ่งได้สร้าง
เขาแต่งแปลง………บ่พอใหญ่กว้าง……………….ม้าวพอดีท้อมวิจ
.
……..คันปริเย…….การสร้างแต่งคิด……………….ครบไคว่ถ้วนนานา
เดือนมาฆะ……หากอาคตา…………………………นึ่งค่ำเทิงมา……….จุจนจั้นๆ
พระพุทธศก………๖๔หั้น…………………………….การทำบุญทอดซะ
.
……..จลองทำบุญ…….พระเจติยะ………………….ออกค่ำขึ้นเถิงแรม
มารหยาบช้า……บ่มากวนแกม……………………..ตราบเถิงเดือนแรม……….๓ค่ำลงได้
ปริกขาร………ทานไปไจ้ๆ…………………………….ชุวันไปพร่ำพร้อม
.
……..พันรูเพีย…….ท่านยกยื่นน้อม…………………เป็นส่วนสร้างบุญทาน
คันเสร็จเมี้ยนแล้ว……กัตตาธิการ…………………..ในส่วนบุญทาน……….ที่วัดดอยเกิ้ง
ซ้ำมีจิตโต………มโนหลิ่งเสิ้ง…………………………ด้วยการคำเคริงบ่ละ
.
(บทคร่าวตอนที่กล่าวถึงดอยเกิ้ง หมดเพียงเท่านี้ บทอื่นกล่าวถึงการบูรณะวัดอื่นๆ)
