อารยธรรมลุ่มน้ำแม่หาดตอนล่าง

อารยธรรมลุ่มน้ำแม่หาดตอนล่าง

กลุ่มหมู่บ้านที่สำคัญที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำแม่หาด   และอยู่นานกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ  ที่กล่าวมาแล้วทุกหมู่บ้าน  คือกลุ่มหมู่บ้านหลวงดอยเต่า บ้านหลวงดอยเต่า  เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่สุด  ที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำแม่หาด  แต่บอกไม่ได้ว่าโยกย้ายมาจากไหน อยู่บริเวณนี้นานกี่ปี พ่ออุ้ยกาบ ปันจินะ อายุ ๙๖ ปี  เป็นคนเก่าคนแก่ของบ้านหลวงดอยเต่า  บอกว่า พอจำความได้  ก็เห็นว่าบ้านดอยเต่ามีเป็นร้อยครัวเรือนแล้ว  ปัจจุบันได้แยกสาขาเป็นหมู่บ้านต่าง ๆ  อยู่ในละแวกนี้ ถึง  ๔  หมู่บ้าน คือ  บ้านสันป่าดำ(บ้านที่พ่ออุ้ยกาบอยู่)  บ้านสันต้นเปา  บ้านปากทางดอยเต่า  บ้านฉีมพลี    ถ้านับจำนวนครัวเรือนมารวมกันแล้วน่าจะมากกว่าพันครัวเรือน แสดงถึงว่าบ้านหลวงดอยเต่าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ อายุการตั้งหมู่บ้านนานกว่าบ้านอื่น ๆ  ที่กล่าวมาแล้ว แต่ร่องรอยอารยธรรมก็ไม่ได้แตกต่างจากบ้านอื่น ๆ เท่าไหร่นัก

 จากหลักฐานใบลาน  ประวัติของบ้านตาล  ได้กล่าวถึงอาณาเขตของบ้านตาลและได้กล่าวถึงคนจาวดอยเต่าว่า “ขุนตูสั่งไว้สันนี้  แดนตี๊แต้  ตะกล้าไร่หลวง  แผวนาร้องเรียว  แผวปวกก้อน  หนองอึ่ง  ลงสุดตุบ ขึ้นแม่หาดเป๋นแดน  แผวห้วยบ่อขุมเงิน  ขึ้นห้วยบ่อขุมเงิน แผวดอยกั้ง  แผวห้วยสารปี  แผวเด่นข้าวตาก  ขึ้นดอยผากอง  ซื่อตามสัน โก้ดตามสัน  น้ำไปตางวันออกเป๋นตี๊เมืองลี้  น้ำไหลไปตางวันตกตี๊บ้านตาล  ไต่สันไปแผวม่อนพระเจ้า  ลงสันม่อนพระเจ้าแผวแม่ลี้ฝ่ายใต้  สูบแม่ละงอง ล่องตามแม่ลี้ฝ่ายวันออกจุเมืองลี้มีสันนี้แล  อัน ๑  เล้า ตี้ดอยป่าหมาก ซื่อตามสัน โก้ดตามสัน  แผวแป๋ตัดม่อนเส้า  ลงผาตั้งลงแม่หาด  แผวร้องปูขึ้นนั้น  จาวดอยเต่าจ๋นด้วยอันหาตี้เยี๊ยะตี้กิ๋นบ่ได้ จึ่งเอาเงิน  ๕  เหล่มเจียงมาขอแก้กลาหัวไร่หางนากิ๋น แจ๋นตู่ข้าอยู่จิ๋มกันนี้ปอขอหื้อกินเต๊อะ  ยามนั้นขุนบ้านตาลเปื้อนว่าบ่ดี  ป๋ายหน้าลูกหลานสูเจ้าจั๊กว่า   ตี้ตูซื้อขาดแล้ว    จั๊กว่าอันตูบ่ขายแล  ป๋ายหน้าลูกหลานตูไปง่าย  หากตักรวงดั้นจร เอาน้ำตี้หลังดินตูคืนเสีย  สูเจ้าจั๊กจูบ่จู  กั๋นจูตูก็จั๊กเอาเงินสูไว้จา  ป๋ายหน้ากั๋นสูบ่อยู่ตามสัจจะวาจานั้น  ตูจั๊กขื๋น ๕ เหล่มเจียงหื้อสูเสีย  ตี้นี้เป๋นตี้ตูดังเก่า  มีกำปฏิญานกันไว้สันนี้แล้ว  จาวดอยเต่าจิ่งว่าไปหน้า เจ้นลูกหลานตูข้าตังหลาย  กันว่าเขาบ่อยู่  ตามกำสัจจะวาจา ตามกำอันนี้ขื๋นเต๊อะว่าอั้นแล้ว  ขุนตนจิ่งปล่งหื้อตั้งแต่นั้นมา แลมีกำสันนี้แลฯ”

จากข้อความบันทึกใบลาน  เป็นภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง) ดังกล่าว  บอกให้รู้ว่า  คนดอยเต่าโยกย้ายมาอยู่บริเวณนี้ใหม่ ไม่มีที่ทำกิน จึงขอซื้อที่ดินของคนบ้านตาล  ซึ่งมีทุ่งนาในบริเวณนี้มาก่อน  คนบ้านตาลไม่ขายให้  แต่จะให้ทำกิน ถ้าวันข้างหน้าไม่อยู่ที่นี่ต่อ  คนบ้านตาลจะคืนเงินให้  ๕  เหล่มเจียง  น่าเสียดายที่ข้อความที่บันทึกไว้ไม่ได้บอกวันเดือนปีที่คนดอยเต่าโยกย้ายมาอยู่  และโยกย้ายมาจากไหน  แต่ได้โยกย้ายมาใหม่ ๆ  ไม่มีที่ทำกิน และไม่แน่ใจว่าจะอยู่ต่อไปหรือไม่  ถ้าคนดอยเต่าไม่อยู่  คนบ้านตาลจะคืนเงินให้  จนถึงเดี๋ยวนี้คนดอยเต่าคงไม่ได้เงิน ๕ เหล่มเจียงคืน เพราะคนดอยเต่าได้ตั้งหลักปักฐาน สร้างบ้านสร้างเรือนขยับขยายแตกสาขาออกเป็นหลายหมู่บ้าน  และได้สร้างวัดขึ้นใหม่   คือ  วัดบ้านหลวงดอยเต่า

วัดบ้านหลวงดอยเต่าเดิมอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่หาด  แต่ถูกน้ำท่วมจึงย้ายมาอยู่ที่วัดหลวงดอยเต่าปัจจุบัน  ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างของชนเผ่าลัวะ  มีหลักฐานสำคัญคือประตูโขงเก่า ๆ เชื่อว่ามีอายุก่อนยุคกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้เคยขุดพบพระไม้ปางมารวิชัย และยังมีกำแพงวัด มีซากอิฐปรักหักพัง  บริเวณวัดอยู่ติดกับดงหอพ่อเฒ่าหนาน (ศาลผีเสื้อบ้าน หรือผีประจำหมู่บ้าน)

นอกจากบริเวณวัดหลวงดอยเต่าจะเป็นร่องรอยอารยธรรมของคนลัวะตามที่พ่ออุ้ยกาบเล่าให้ฟังแล้ว  ในบริเวณนี้ ยังมีวัดแยงเงา  ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่ตูบ(เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำแม่หาด)  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านฉีมพลีประมาณ  ๕๐๐  เมตร (สันนิษฐานว่า  เงาของพระธาตุ หรือวิหารอะไรสักอย่างที่เกิดเป็นเงาอยู่ในน้ำ  จึงได้ชื่อว่าวัดแยงเงา คำว่า  แยง หมายถึง ดู แยงเงา  น่าจะหมายถึง  ดูเงาตนเองในน้ำแม่ตูบ)  เวลานี้ไม่เหลือแม้แต่เงา เหลือแต่ซากก้อนอิฐเก่า ๆ บ้างพอรู้ว่าเป็นวัดเท่านั้นเอง

วัดนาโฮ้งเก้า  เป็นอีกวัดหนึ่งที่พ่ออุ้ยกาบเล่าให้ฟัง เป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านอุ้ยกาบ  วัดแห่งนี้น่าสนใจมาก  เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่วัดเดียวที่พอจะเห็นพระพุทธรูปตั้งอยู่ให้เห็น  ลูกของพ่ออุ้ยกาบ  อายุ  ๖๐ กว่า ปี  เล่าว่า  สมัยเป็นเด็ก  ยังเคยเห็นพระพุทธรูป ประดิษฐานอยู่ในวัดร้าง  ซึ่งเวลานั้นมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาทึบกลายเป็นดงย่อม ๆ แล้ว  ถามว่า เดี๋ยวนี้ พระพุทธรูปที่ว่าหายไปไหน  อุ้ยกาบเล่าว่า  ครูบาขาวปี๋(นักบุญแห่งล้านนาที่คนดอยเต่าให้การเคารพนับถือ)  เคยเอาไปครั้งหนึ่งแต่เอามาคืนไว้ที่เดิม  หลังจากนั้นหมวดหมาน  หรือหมวดสมาน  เจ้าหน้าที่ตำรวจโรงพักแม่กาเอาไปแต่ไม่ได้เอามาคืน ไม่มีใครที่จะทักท้วงขอคืน  เนื่องจากคิดว่าไม่ใช่มรดกตกทอดของบรรพบุรุษ  เป็นของคนลัวะ  ซึ่งคนบ้านเราไม่กล้าที่จะไปยุ่งเกี่ยวด้วยหรอก เพราะกลัวผีวัดร้างทำร้าย  อุ้ยกาบ  บอกว่า  วัดห่างโฮ้งเก้า อยู่บริเวณที่ราบลุ่มใกล้ทุ่งนา  ส่วนที่ตั้งของวัดม่อนจอมธรรมปัจจุบัน จะเป็นร่องรอยซากปรักหักพังพระธาตุของวัดโฮ้งเก้าซึ่งอยู่บนม่อนดอยใกล้ๆ นั่นเอง

อารยธรรมบ้านไร่

ห่างจากบ้านหลวงดอยเต่า  ล่องตามสายน้ำแม่หาดไม่เกิน ๓  กิโลเมตร จะเป็นที่ตั้งบ้านไร่  หมู่ ๒  ต.  ดอยเต่า  อ. ดอยเต่า  จ. เชียงใหม่  ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ไม่แพ้บ้านหลวงดอยเต่า จากการสอบถามแม่อุ้ยพา  เปี้ยพริ้ง อายุ  ๘๐  ปี แม่อุ้ยพาเล่าให้ฟังว่า  บ้านไร่เกิดจากการที่มีคนย้ายถิ่นที่อยู่เพื่อมาทำไร่  จึงได้ชื่อว่าบ้านไร่  คนเฒ่าคนแก่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า คนบ้านไร่ได้โยกย้ายมาจาก   อ.แม่พริก จ. ลำปาง  แรกเริ่มมีคนมาทำไร่อยู่เพียง  ๓  ครอบครัว คือ  ๑.ครอบครัวแม่เฒ่าฟองแก้ว  ๒.ครอบครัวแม่เฒ่าเป็ง  ๓. ครอบครัวแม่เฒ่างา

แม่อุ้ยพา เปี้ยพริ้ง แม่อุ้ยติ๊บนำปุ๊ด แม่อุ้ยอ่อน ปาสอน

 

เดิมบ้านไร่มีวัดอยู่บริเวณตลาดนัดวันศุกร์ติดลำห้วยแม่หาด สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒  จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน  ภายในวัดเก่ามีโฮง(กุฏีสงฆ์)หลังใหญ่  มีวิหาร  แต่ไม่มีเจดีย์หรือพระธาตุ  มีเจ้าอาวาสชื่อครูบาเผือก  เนื่องจากวัดคับแคบและติดกับฝั่งแม่น้ำแม่หาด ถูกน้ำกัดเซาะจึงย้ายมาอยู่ที่วัดบ้านไร่ปัจจุบัน   ลุงหนานใจ๋  โด้คำ  อาจารย์วัดบ้านไร่  เล่าว่า  บริเวณของวัดปัจจุบันก็มีก้อนอิฐสมัยเก่า  คล้ายกู่ของคนโบราณหลงเหลืออยู่ให้เห็น  แสดงว่าวัดบ้านไร่ได้ย้ายมาสร้างทับที่เก่าของคนโบราณที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านี้  เช่นเดียวกับวัดหลวงดอยเต่า

วัดบ้านไร่ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านไร่จนทำให้วัดวาอารามมีพระอุโบสถ พระวิหาร  กุฏี  พระธาตุเจดีย์ที่สูงตระหง่านให้เห็นในปัจจุบันนับเป็นเวลาถึง   ๙๓ ปี

ถามถึงร่องรอยอารยธรรมที่เก่าแก่ในบริเวณบ้านไร่แล้ว  ได้คำตอบว่า  ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน  จะมีหนองน้ำ มีพื้นที่ประมาณ ๓ ไร่ ชาวบ้านเรียกว่าหนองย่าลัวะ   ด้านทิศเหนือของหมู่บ้านชาวบ้านไร่เรียกชื่อว่าดงผึ้ง (บริเวณสวนลำไยลุงน้อยหนิ้ว)จะมีซากอิฐปรักหักพังเป็นจำนวนมาก มีร่องรอยทางเดินปูด้วยหิน มีแนวกำแพงวัด  พระวิหาร ชาวบ้านเรียกว่า วัดจอมแจ้งกำแปงงาม(พ่อครูทวี ยงสุวรรณวงศ์ ให้ข้อมูล)   พ่อหนานใจ๋  โด้คำ (พ่ออาจารย์วัดบ้านไร่)สันนิษฐานว่าเป็นวัดของชนเผ่าลัวะ

นอกจากดงผึ้งยังมีวัดห่างจ้างคำ  เป็นวัดร้างอยู่ด้านทิศตะวันออกของบ้านไร่  ประมาณ  ๑๐ กิโลเมตร  มีร่องรอยของวัดร้าง  บ้านร้าง มีอิฐขนาดก้อนใหญ่ ๆ  มีต้นผลหมากรากไม้ เช่น  มะม่วง  ขนุน  มีร่องรอยของการขุดหาของเก่า  มีร่องรอยของหมู่บ้านบริเวณรอบ ๆ  วัดห่างจ้างคำ  เช่น  เด่นตูบ     โล๊ะตีนแป   เหล่าป่ากล้วย   วังบ่าบ้า   โดยเฉพาะบริเวณเด่นตูบ  เป็นบริเวณที่มีคนเคยขุดพบพระสิงห์หนึ่ง  บริเวณอื่น ๆ  ไม่ทราบว่าได้อะไรไปบ้าง  มีแต่ร่องรอยการขุดเป็นหลุมเป็นบ่อไปทั่วบริเวณ

ห่างจากบ้านไร่ไปตามลำน้ำแม่หาด  ผ่านวัดร้างจอมแจ้งกำแปงงามไปไม่ไกลนัก  จะมีร่องรอยบ้านร้างของหมู่บ้านเด่นคา ซึ่งเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับบ้านไร่  ได้กลายเป็นบ้านร้างเมืองร้างเมื่อประมาณ ๘๐ ปีที่ผ่านมา   เดิมบ้านเด่นคามีอยู่  ๓  กลุ่ม  คือบ้านเด่นคาเหนือ  บ้านเด่นคากลาง และบ้านเด่นคาใต้  ทั้ง  ๓  กลุ่มหมู่บ้าน  เคยเป็นหมู่บ้านที่เจริญ มีวัดวาอาราม  แต่ปัจจุบันทิ้งเป็นบ้านร้างวัดร้าง  แยกย้ายกันไปอยู่คนละที่คนละทาง  เนื่องจากไม่สามารถขยายบ้านได้  เพราะอยู่ระหว่างแม่น้ำแม่หาดกับทุ่งนา  อีกเหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะน้ำแม่หาดเปลี่ยนทิศ ทำให้ฝั่งแม่น้ำพังทลายเข้าสู่หมู่บ้าน  เท่าที่สืบทราบจากคนเฒ่าคนแก่บ้านไร่บอกว่า   บ้านเด่นคาเหนือย้ายมาอยู่บ้านไร่  บ้านเด่นคากลางย้ายไปอยู่บ้านสันติสุข  ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของลำห้วยแม่หาด  อยู่ห่างจากบ้านเดิมประมาณ  ๓ กิโลเมตร    บ้านเด่นคาใต้ย้ายไปอยู่บ้านถิ่นสำราญ อยู่ทางทิศเหนือของบ้านเดิมประมาณ  ๑  กิโลเมตร  ปัจจุบันนี้ทั้งบ้านถิ่นสำราญและบ้านสันติสุขเป็นหมู่บ้านขนาดกลางได้มีประชากรที่ย้ายจากการอพยพหนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่สมทบ  จึงทำให้เป็นหมู่บ้านที่มีหลากหลายสำเนียงอย่างเห็นได้ชัด

พ่ออุ้ยกาบ ปันจินะ อายุ ๙๖ ปี บ้านสันต้นเปา ผู้ให้สัมภาษณ์

Share this post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

scroll to top