ผ้าซิ่นหนีน้ำท่วม

เดิมทีคนดอยเต่าจะอาศัยอยู่เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มลุ่มน้ำแม่หาดซึ่งจะอยู่บนพื้นที่ราบสูงริมน้ำแม่หาด ได้แก่ บ้านดอยเต่าเก่า บ้านไร่ โปงทุ่ง อีกกลุ่มหนึ่งจะมีมากกว่ากลุ่มแรก ได้แก่ ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่แถบที่ราบลุ่มแม่ปิง ได้แก่ บ้านแม่กา บ้านชั่ง ท่าเดื่อ บ้านน้อย จนถึงบ้านแอ่น มีหมู่บ้านทั้งเล็กและใหญ่รวมกันถึง 21 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 54 ตารางกิโลเมตร ประกอบอาชีพเพาะปลูกข้าว ถั่ว ยาสูบ ครั่ง และค้าขาย โดยนำสินค้าใส่เรือแพล่องไปขายทางตอนล่างแถบเมืองตากและปากน้ำโพ

มาเมื่อปี พ.ศ. 2495 เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชุมชน อ.ดอยเต่า เมื่อรัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศสร้างเขื่อนยันฮี (เขื่อนภูมิพล) โดยกั้นแม่น้ำปิงตรงบริเวณช่องเขายันฮี อ.สามเงา จ.ตาก แต่เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จ น้ำได้เอ่อขึ้นมาท่วมพื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำปิง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงต้องอพยพขึ้นมาอยู่ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองฯ ของเขื่อนภูมิพลที่ดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์

แต่เพราะเขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนแห่งแรกของประเทศ ทำให้ภาครัฐไม่ได้ออกแบบวิธีการจัดการที่มีแบบแผน ทำให้การจัดการด้านสาธารณูปโภคให้กับผู้อพยพเป็นไปอย่างขลุกขลัก หลายหมู่บ้านไม่มีน้ำกินน้ำใช้ รัฐทำได้เพียงนำเครื่องอุปโภคบริโภคมาแจกกันเป็นครั้งคราว ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ทำให้คนในชุมชนหลายหมู่บ้านตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น เช่น บ้านหนองบัวคำเดิมได้อพยพไปอยู่ อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นต้น

ดังเรื่องราวของคนเรือหาสมบัติบันทึกในช่วงนั้นว่า…“เห็นหีบธรรมลอยน้ำเป็นร้อยเป็นพันก็สังเวช” ชาวหมู่ผู้คนพากันหนีตายพลัดหายไปจากถิ่น นางแม่เรือนและแม่อุ้ยอันเคยได้รังสรรค์ผ้านุ่งครัวใบทั้งมวลก็ละทิ้งกี่แลหูกทอไว้ใต้น้ำ ขนาดสิ่งที่จะใช้ยังชีพอย่างหม้อชามรามไหยังละขว้าง ไปหาเอาทางหน้า นับประสาอะไรกับเครื่องนุ่งพันกายไม่ตายก็หาใหม่ หอบมาแต่ผ้าซิ่นไม่กี่ผืนอันที่ได้เคยทอเมื่อตอนอยู่ม่วนกินหวาน หวังจะเอาไว้นุ่งไปเฝ้าพระแก้วเจ้าจุฬามณีเมืองฟ้าเมื่อยามละสังขารสิ่งทั้งมวลจึงปล่อยให้น้ำอันสร้างไฟฟ้ามากลบหายอยู่ใต้ธรณีนทีใหญ่กว้างนั้น แล…”

“ผ้าทอตีนจก” ของคนดอยเต่าจึงกลายเป็นของมีค่าดุจดังทองคำที่ผู้อพยพสามารถหยิบฉวยในช่วงเวลาของการย้ายถิ่น ในขณะที่ของหลายชิ้นไม่สามารถนำติดตัวมาได้ ต้องปล่อยให้จมหายไปกับการเอ่อท้นของน้ำในเขื่อน

“ผ้าซิ่นตีนจกลายหนีน้ำท่วม” หรือ “ซิ่นน้ำถ้วม” ตามภาษาอักขระล้านนา จะเป็นซิ่นไทยยวนของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลสาบดอยเต่าของ จ.เชียงใหม่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีสีสันสดใส มีลวดลายมากถึง 500 – 600 ลาย ผ้าซิ่นมีองค์ประกอบสามส่วนคือส่วนที่เป็นตีนจก ตัวซิ่น และหัวซิ่น

นักภูษิตาภรณ์พิลาสหลายท่านสรุปว่า ซิ่นน้ำถ้วมแบบเก่ามักจะทอลายห่าง เป็นแบบอย่างของตีนจกโบราณของทุกพื้นที่ก่อนที่จะเพิ่มลายเพิ่มฝ้ายให้หนาขึ้นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ซิ่นน้ำถ้วมไม่ใช้ดิ้นเงินดิ้นทองวาววับอย่างของชาวหอคำหลวง เพียงแต่แซมดิ้นและซอนไหมในบางส่วนของลวดลายเท่านั้น จึงงามอย่างพอดีๆ

คุณฐาปณี ไหวยะ ตัวแทนลูกหลานคนดอยเต่า ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้สนใจเรื่องผ้าซิ่นของคนดอยเต่ามาตั้งแต่แรก เพราะเห็นอยู่ในชุมชนจนเป็นเรื่องปกติ แต่พอมีโอกาสมาศึกษาต่อในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ทำให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วผ้าซิ่นลายน้ำท่วมเป็นของมีค่าที่กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา จึงเริ่มศึกษา ฝึกทอผ้าจากพ่อครูแม่ครู และสืบหาผ้าซิ่นดอยเต่าที่อาจเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่เหลือให้คนรุ่นหลังได้สืบสานและบอกเล่าอัตลักษณ์ของคนดอยเต่ามาแกะลวดลายและทำการทอผ้า ซึ่งต้องทำให้เหมือนลายดั้งเดิมมากที่สุด โดยเฉพาะเน้นสีแดงดำที่บ่งบอกอัตลักษณ์ความเป็นผ้าซิ่นน้ำถ้วมดอยเต่า
….
เมื่อคุณฐาปณีกลับมายังชุมชนก็อยากอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมเอาไว้ จึงประสานการทำงานร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อ.ดอยเต่า ช่วยกันรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าซิ่นน้ำถ้วม ด้วยการจัดตั้งและเปิดเป็น “พิพิธภัณฑ์ผ้าถาวรและศูนย์เรียนรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลดอยเต่าด้านหัตถกรรม (ผ้าซิ่นตีนจกน้ำท่วมดอยเต่า)” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาของชุมชนและผู้สนใจ เป็นแหล่งศูนย์ฝึกอาชีพกับคนในชุมชนสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้ พร้อมทั้งต้องการให้เยาวชนดอยเต่ามีจิตสำนึกรักบ้านเกิดสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์สวยงามเฉพาะตัวอีกด้วย

นอกจากนั้นยังใช้ “สภาองค์กรชุมชนตำบลดอยเต่า” เป็นเวทีกลางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น การจัดเวทีนำเสนอโครงการผ้าซิ่นตีนจกเพื่อขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจในชุมชน การประสานหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นให้ประชาสัมพันธ์เพื่อขยายตลาดผ้าซิ่นให้กว้างไกล ทำให้เริ่มมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและหนุนเสริมการพัฒนา และยกระดับให้เกิดการต่อยอดงานการพัฒนามากขึ้น

ในแง่ของความเปลี่ยนแปลงภายหลังที่มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นฯ นั้น คุณฐาปนีมองว่ามีการเปลี่ยนแปลง 2 ระดับแรกคือ เริ่มเห็นคนในชุมชนและคนรุ่นใหม่มุ่งมั่นที่จะสืบเสาะและสืบทอดผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายของชุมชนที่ยังเหลือให้คนรุ่นหลังได้สืบสานและการบอกเล่าผ่านลวดลายเรื่องราวบนผืนผ้าซิ่นตีนจกน้ำท่วมดอยเต่า

ส่วนความเปลี่ยนแปลงระดับที่ 2 คนในชุมชนและหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ยอมรับการทำงานศูนย์การเรียนรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นฯ สังเกตได้จากการเริ่มมีเยาวชนในหมู่บ้านเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในศูนย์การเรียนรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นฯ มากขึ้น

“อย่างไรก็ดีแม้ว่าการจัดศูนย์เรียนรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นฯ จะเริ่มเห็นเส้นทางความสำเร็จมาได้ระยะหนึ่ง แต่ก็ยังอยากให้การทอผ้าซิ่นกลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้จริงควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของผ้าซิ่นตีนจกน้ำท่วมดอยเต่า ซึ่งในอนาคตจะเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ หวงแหนภูมิปัญญาของชุมชน และรักษาสืบสานผ้าทอน้ำท่วมดอยเต่าได้อย่างยั่งยืน” คุณฐาปนีกล่าว

อ้างอิงบทความ:
เอกสารงานสมัชชาพลเมืองเชียงใหม่ วันที่ 23 กันยายน 2560
ณ ห้องประชุมข้าวหอมมะลิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

Share this post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

scroll to top