ตามรอยเมืองโบราณ “พิสดารนคร” เมืองฮอด อ้อมกอดแห่งความทรงจำ
เมืองฮอด ในอดีตจากหลักฐานเอกสารสมัยล้านนาหลังยุคราชวงศ์มังราย มีปรากฎในโคลงมังทรารบ เชียงใหม่(พ.ศ.2158) ว่า “เพราะเหตุใดพ่อค้าเรือทางอยุธยามาค้าขายถึงมีตลาดขายของตลอดวัน ทุกวัน ชาวเชียงใหม่พากันมาถึงเมืองหอด(ฮอด) ซื้อขายกันเป็นที่สนุกสนาน ผู้คนพลุกพล่าน บางคนถึงขั้นเป็นเศรษฐี”
ในสมัยช่วงฟื้นม่าน ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2314 พระญาจ่าบ้าน(บุญมา) ได้บาดหมางกับโป่มะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ พบเจ้ากาวิละ เพื่อเป็นพันธมิตรขับไล่พม่า เจ้ากรุงอังวะสั่งให้ทัพเมืองเชียงใหม่ไปรบกับธนบุรี พระญาจ่าบ้านอาสาเป็นกองหน้า นายทัพพม่าให้คุมกำลังม่าน 70 และไต 50 นาย เมื่อมาถึงเมืองฮอด ก็ได้ฆ่าฟันพม่าจนหมดสิ้น และได้ไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อขอกำลังช่วยขับไล่พม่า
จากหลักฐานเอกสารในยุคสมัยช่วงต้นราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เมื่อปี พ.ศ.2330 ม่านแข้งอุเมงคีโป่ นำพล 16,000 จากอังวะเข้าเมืองยวม เจ้าพุทธวงศ์คุมไพร่พล 150 ออกลาดตระเวน ปะทะทัพหน้าของพม่า จึงขอความช่วยเหลือจากเจ้ากาวิละ เจ้ากาวิละมอบให้เจ้าอุปราชและเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว เป็นแม่ทัพ ยกพลไปตีทัพหน้าของพม่าจนแตกพ่าย ไล่รบกันไปจนถึงเมืองฮอด ทัพใหญ่พม่ายั้งทัพอยู่เป็นจำนวนมาก จึงถูกตีถอยร่นไปเมืองป่าซาง

เมืองฮอดจากหลักฐานเอกสารในช่วง 100 ปีก่อนสร้างเขื่อนภูมิพล “บันทึกเดินทางของ ยอร์ช ยังอัสแบนด์” ปี พ.ศ.2430 ได้กล่าวถึง การเดินทางจากมะละแหม่งด้วยเรือไอน้ำ ขึ้นไปตามแม่น้ำสาละวิน ไปจนถึงหมู่บ้านชเวกุล ข้ามเขา 12 วัน มาลงที่แม่สะเรียง จากนั้นเดินทางข้ามเขาอีก 5 วัน จนมาถึงเมืองฮอด
ในบันทึกได้กล่าวถึงชาวเมืองฮอดในขณะนั้นว่า “ชาวเมืองฮอดนั้นดูดี ผู้หญิงเนื้อตัวสะอาดสะอ้าน มีน้ำมีนวล หน้าตางดงาม ส่วนผู้ชายก็สุภาพและเป็นมิตร”
จากการขุดค้นทางโบราณคดี ส่วนมากจะโดนลักลอบขุดไปก่อนแล้วเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่มีเพียงโบราณสถาน 2 แห่งที่ยังสมบูรณ์โดยยังไม่ถูกผู้ร้ายลักขุดเลย คือ วัดหลวงฮอด กับ วัดเจดีย์สูง ซึ่งเป็นวัดร้างตั้งอยู่หลังที่ว่าการอำเภอ และที่วัดแห่งนี้เองมีประวัติร่ำลือกันในหมู่ชาวบ้านว่า “ผีดุอย่างร้ายกาจ”
ผีที่รักษาวัดนี้ ชื่อ ครูบาแก้ว มักทำอันตรายแก่คนที่เดินผ่านเข้าไปในเขตวัดเสมอ ชาวบ้านอย่าว่าแต่ให้ขึ้นไปบนเจดีย์วัดนี้ แม้แต่ให้เดินเข้าไปภายในกำแพงวัดก็ไม่มีใครยอมเข้า ดังนั้นในวันแรกที่เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เริ่มไปสำรวจขุดค้น ชาวบ้านต่างพากันมาตักเตือนเรื่องผีดุนี้เป็นอันมาก เพราะกลัวจะเอาชีวิตมาทิ้งกันไว้เสียเปล่าๆ
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้มีการขุดค้นโบราณสถานเมืองฮอด อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก: สำนักงานศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
สามารถติดตามได้ที่เพจ เรื่องราวโบราณสถาน https://www.facebook.com/Archaeology-7-Chiang-Mai-959237684143410
ท่านใดที่สนใจเรื่องราวความเป็นมาประวัติ เมืองโบราณเมืองฮอด สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.matichonweekly.com/column/article_330593