ประวัติหมู่บ้าน บ้านชั่ง

ประวัติหมู่บ้าน เล่าขานดอยเต่า

บ้านชั่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ ต. ท่าเดื่อ อ. ฮอด จ.เชียงใหม่ ทิศเหนือติดบ้านท่าครั่ง ทิศใต้ติดลำห้วยแม่หาด ทิศตะวันออกติดตำบลดอยเต่า ทิศตะวันตกติดแม่น้ำปิงตรงกันข้ามกับหมู่บ้านตีนดอย บ้านชั่งเป็นหมู่บ้านใหญ่มีโรงเรียนอยู่กลางหมู่บ้าน

วัดบ้านชั่งในอดีต ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก ตรงข้ามกับพระธาตุเจ้าดอยเกิ้ง ตั้งอยู่บนดอยสูงซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง วัดบ้านชั่งเป็นวัดที่เก่าแก่มากวัดหนึ่ง สร้างเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฎ คาดว่าคงสร้างก่อน พ.ศ. ๒๓๐๐ ขึ้นไป ปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ครูบาสุข อินโต ได้ปฏิสังขรต่อจากของเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้บริเวณบ้านชั่ง ยังมีวัดร้างอีก 3 วัด คือ วัดกาด วัดไม้สามโฮง และวัดป่าช้า ทั้งสามวัดนี้ เหลือแต่ซากของฐานรากพอให้เห็นเท่านั้น หลังวัดบ้านชั่งมีต้นไม้ใหญ่มากขนาด ๕ คนโอบ ชาวบ้านเรียกว่าไม้งุ้น ต้นไม้นี้จะมีผึ้งมาอาศัยทำรังเป็นจำนวนมากประมาณ ๑๐๐ กว่ารัง ชาวบ้านจึงเรียกอีกว่า “ไม้ต้นผึ้ง” บ้านชั่งนั้น เดิมตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง ต่อมาน้ำปิงได้เปลี่ยนทิศทางการไหล วัดกาด (วัดร้าง ) ก็เลยอยู่ไกลฝั่งน้ำปิง และท้องของแม่น้ำปิงตรงนั้นก็เกิดเป็นหนองน้ำขึ้น ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหนองยะลว้า

นอกจากนี้บ้านชั่งยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างคือ บ่อน้ำโบราณอายุสองร้อยกว่าปี เป็นบ่อน้ำลึกประมาณ ๑๐ เมตรปากบ่อมีความหนามากมีน้ำเท่าเดิมตลอดทั้งปี ปัจจุบันสภาพยังดีและมีให้เห็น

ในอดีตหลายช่วงอายุคน นับพันๆ ปีบริเวณที่ราบลุ่มแห่งนี้ อาจจะเป็นที่อยู่เดิมของคนเผ่าละว้า หรือ ลั๊วะ ก็ได้ โดยหลักฐานจากหนองน้ำที่วัดกาด (วัดร้าง) ที่บ้านชั่งเก่านั้นมีชื่อว่า หนองยะลว้า และมักจะพบสิ่งประดิษฐ์จากดินเหนียวปั้น ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “บูยา” ไม่ใช่บูชา บูยาคือสิ่งที่บรรจุยาสูบบุหรี่ที่ทำขึ้นจากดินเหนียวปั้น แกะลวดลายสวยงามมากปัจจุบันหาดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ทั่วไป สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของชาวลั๊วะ ชาวลั๊วะคงอาศัยอยู่ตามริมฝั่งน้ำปิง ตั้งแต่อำเภอฮอด ล่องลงมา บ้านแอ่น บ้านโท้ง บ้านน้อย บ้านท่าเดื่อ บ้านชั่ง บ้านท่าครั่ง บ้านหนองบัวคำ บ้านมืดกา ที่เหล่านี้ คงเป็นที่อยู่อาศัยของชนชาวลั๊วะมาก่อน ก่อนที่จะถูกไทยใหญ่รุกรานหนีไป จะเห็นได้จากวัดร้างที่บ้านชั่งมีทั้งหมด ๓ วัด บนดอยแม่สิม ก็มีซากวัดเก่าอยู่หลายที่เช่นกัน

ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกโปรดสัตว์โลกมาถึงตรงบ้านชั่งจึงได้หยุดพักหรือจั้ง คำว่าจั้งหมายถึง หยุดพัก คำว่ายั้งและจั้งก็คำเดียวกัน ต่อมาก็เลยเพี้ยน จากจั้งมาเป็นจั่งหรือชั่ง สืบทอดกันมา บ้านชั่งสมัยก่อนนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ทางพืชพันธุ์ธัญญาหารมาก ทำเกษตรกรรมโดยวิธีธรรมชาติเท่านั้น ชาวบ้านสมัยก่อน หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะช่วยกันซ่อมแซมปรับปรุงทนุบำรุง วัดวาอารามเป็นอย่างดี มีเรื่องเล่ากันว่าครั้งหนึ่งมีตุ๊เจ้า(พระ)พร้อมด้วยศรัทธาชาวบ้านและสามเณร ได้พากันไปค้นหาธรรม หรือพระไตรปิฎก ฉบับใบลาน

โดยนำเรือล่องน้ำปิงไปหาธรรม ตามวัดร้างต่าง ๆ ในแก่งสร้อย แก่งปวง หรือตามถ้ำ หรือที่วัดกะตา เมื่อได้ธรรมมาหลายหีบก็นำใส่เรือ ถ่อขึ้นมาเรื่อย ๆ (พายเรือทวนน้ำ) เมื่อมาถึงวัดผาเผียก ตรงกับวัดสมแคเหนือ บ้านมืดกาตะวันตกเก่า สามเณรน้อย วัดสบแค เห็นสามเณรน้อยองค์หนึ่ง ที่มาในเรือกับคณะค้นหาธรรม พิการหลังโก่ง สามเณรน้อยวัดสบแคก็เลย ถามเป็นปัญหาไปว่า “เอาโลพระกั๋งมาด้วยหรือ” ทุกคนที่มาในเรือนั้นต่างก็ตอบแก้ปัญหาไม่ได้สักคน คณะที่ถ่อเรือนำหีบธรรมนั้นไปเก็บไว้ที่วังผาหีบเหนือบ้านท่าครั่ง ที่ตรงนั้นจึงได้ชื่อผาหีบเท่าทุกวันนี้

ส่วนผาเผียกนั้น เพี้ยนมาจากคำว่า “ เพี๊ยก” เพี๊ยกก็คือพูดล้อเล่น แซวเล่น พูดส่อเสียดให้คนอื่นอับอายที่ตรงนั้นก็มีชื่อว่า ผาเผียก ทั้งผาเผียกและผาหีบยังมีให้เห็นในปัจจุบัน (ขอบคุณข้อมูลจาก พ่ออุ้ยจันทร์ตา ยานะ บ้านแปลง ๘ ครับ) https://www.youtube.com/watch?v=_Saf_swOGKo

ประวัติหมู่บ้าน ดอยเต่า

เล่าขานตำนานดอยเต่า ๙ โดย ดร.วิทยา พัฒนเมธาดา “บทความตำนานดอยเต่าที่ผมรวบรวมขึ้นมาเพื่อต้องการให้คนรุ่นหลังได้รับทราบว่า บรรพบุรุษของคนดอยเต่าในอดีต เป็นผู้ที่มีน้ำใจงดงามยอมเสียสละพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ อพยพมาอยู่ในพื้นที่อันแห้งแล้งบนดอยสูง แต่! เราชาวดอยเต่าก็ยินดีและภูมิใจแม้จะไม่ได้รับการดูแล เท่าที่ควรก็ตาม” หลังจากงานประเพณีสรงน้ำสักการะพระธาตุเจ้าดอยเกิ้ง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕(มาฆบูชา) ณ วัดพระธาตุดอยเกิ้ง ผ่านพ้นไป ชาวบ้านตีนดอยได้ทำความสะอาดวัดจนสะอาดเรียบร้อยเป็นกิจวัตรทำเป็นประจำทุกปี ทำอย่างมีความสุขตื้นตันใจขณะที่ผมเขียนก็นึกถึงภาพเหตุการณ์ที่พึ่งผ่านมาเป็นวิถีชีวิตเป็นศาสตร์ท้องถิ่นที่ดีงาม

ภาพ/เรื่อง โดย: Witthaya Putthanamaetada

Share this post

scroll to top