บ้านหนองอี่ปุ้ม ( บ้านวังหม้อ)
บ้านหนองอี่ปุ้มหรือหนองนางปุ้ม ต. บ้านแอ่น อ. ฮอด จ. เชียงใหม่ อยู่บริเวณบ้านวังลุงเก่า การที่ได้ชื่อว่า บ้านอี่ปุ้มนั้น มีประวัติเล่าว่า มีหญิงคนหนึ่งได้มาหาปลาในหนองน้ำใหญ่ซึ่งอยู่บริเวณหมู่บ้าน ขณะที่หาปลาได้ นางปุ้มได้เอาปลาที่หาได้คาบไว้ในปากโดยไม่ได้เอาใส่ในข้อง และหาปลาต่อไปในขณะจับปลาเพลินอยู่นั้นบังเอิญปลาที่คาบไว้ดิ้นทะลักเข้าไปในปาก ลงสู่ท้องนางปุ้มหายใจไม่ออก และขาดใจตายในที่สุด หนองน้ำนั้นจึงได้ชื่อว่าหนองนางปุ้ม และหมู่บ้านก็มีชื่อตามชื่อหนองน้ำว่า บ้านหนองอี่ปุ้ม (หนองนางปุ้ม)
ในปี พ.ศ. 2507 ทางราชการให้ประชาชนในบริเวณนั้นย้ายออกจากเขตน้ำท่วม อันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนภูมิพลชาวบ้านจึงอพยพมาอยู่ที่ใหม่ คือบริเวณสุสานบ้างวังหม้อในปัจจุบัน ต่อมาหน่วยงานกรมประชาสงเคราะห์ได้เข้ามาจัดสรรที่อยู่ให้เป็นแปลงๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัย
ในปี พ.ศ. 2509 ชาวบ้านและพระอธิการคำปวน พรหมปุญโญ (พระครูปัญญาพรหมคุณ อดีตเจ้าคณะอำเภอดอยเต่า) ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นโดยมีกุฎิ 1 หลัง วิหารชั่วคราว 1 หลังเพื่อใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา และต่อมาบ้านหนองอี่ปุ้มได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบ้านวังหม้อ
ปัจจุบันบ้านวังหม้อ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.บ้านแอ่น อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เดิมทีมีประชากรอยู่ประมาณ 60 กว่าหลังคาเรือน ปัจจุบันมีจำนวนหลังคาเรือนอยู่จำนวน 233 หลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร เช่น ปลูกข้าว ปลูกถั่ว สวนผลไม้ เช่นลำไย มะม่วง และมะนาว
ที่มาของชื่อวังหม้อมาจาก การที่พ่อค้าได้ล่องเรือนำหม้อมาขายโดยผ่านเส้นทางนี้ มีครั้งหนึ่งเรือของพ่อค้าขายหม้อมาล่มตรงบริเวณนี้ ต่อมาจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “วังหม้อ” จนถึงทุกวันนี้
(สัมภาษณ์พระครูปัญญาพรหมคุณ เจ้าคณะอำเภอดอยเต่า จ. เชียงใหม่
วันที่ 28 กันยายน 2544 )

ที่ตั้งเดิมของหมู่บ้านก่อนการอพยพหนีน้ำท่วม