เล่าขานตำนานดอยเต่า ๑๑ โดย ดร.วิทยา พัฒนเมธาดา
บ้านหนองบัวคำ
บ้านหนองบัวคำ เดิมตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลท่าเดื่อ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านใหญ่ประมาณ 300 กว่าหลังคาเรือน ด้านตะวันออกติดกับแม่น้ำปิง ด้านตะวันตกติดกับ ดอยเกิ้ง ด้านทิศใต้ติดกับดอยเรือ ดอยเรือมีสัญลักษณ์เด่นคือมีเสาหินเหมือนเสาศิลาแลงตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของดอย ตามตำนานเล่าไว้ว่าเสาศิลาแลงนี้ เป็นหลักผูกเรือของพญาโยคีสีสู่ ซึ่งอยู่ทางเมืองใต้ ได้นำเรือขึ้นมาแต่งงานลูก พอดีถึงดอยเรือน้ำปิงเกิดตื้นเขินเรือไปไม่ได้ จึงให้ทหารมัดเรือไว้ตรงนี้เพื่อรอให้น้ำขึ้นจะได้ไปต่อ จึงได้ชื่อว่าดอยเรือ (ปัจจุบันยังอยู่)

ด้านทิศเหนือติดกับหนองบัวคำที่เรียกว่าหนองบัวคำเพราะว่าเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีน้ำใสสะอาด มีดอกบัวสีเหลืองโผล่เต็มหนองน้ำมองดูคล้ายสีทองหรือคำ จึงเรียกว่า หนองบัวคำ น้ำในหนองบัวคำแต่ก่อนใสสะอาดสามารถดื่มกินได้ มีจอก แหน ผักตบชวา หอย ปู ปลาอุดมสมบูรณ์เป็นศูนย์ซูปเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติ เป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพของคนในหมู่บ้านก็ว่าได้ ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านหนองบัวคำคือ ลุงหนานอุปาลี จันทร์ยะ ต่อมาได้เป็นกำนันตำบลท่าเดื่อ คนที่่๒ พ่อหลวงสม จันทร์เมือง คนที่๓ พ่อหลวงคำติ๊บ แดงทำ คนที่ ๔ พ่อหลวงสุข จงสว่าง ….
วัดบ้านหนองบัวคำอยู่ติดลำน้ำปิง อยู่ตรงข้ามกับวัดท่าครั่ง เป็นวัดที่มีพระประธานในวิหาร สวยงามมากโดยเฉพาะเศียรและพระพักตร์ สวยงามมากจนแม่ฮือนและสาวสาวที่ไปวัดหลงไหล ถึงกับมวนบุหรี่เป็นมัดไปวางไว้ที่พระบาทของพระพุทธรูป (สาวสมัยก่อนรักใครชอบใครสาวมักจะมวนบุหรี่ฝากไว้ให้ ) สำหรับเศียรของพระพุทธรูปองค์นี้หลังจากน้ำท่วมแล้วท่านพระครูคำปวน พรหมปัญโญ อดีตเจ้าคณะอำเภอดอยเต่าเจ้าอาวาสวัดพิงค์คาราม บ้านวังหม้อ สมัยนั้น ได้นำลูกศิษย์พายเรือไปตัดเศียรพระมาสวมกับพระประธานของวัดพิงค์คารามและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรแล้ว จะสวยงามขนาดไหนเชิญศาสนิกชนไปกราบไหว้บูชาและดูได้ครับที่วัดพิงค์คาราม บ้านวังหม้อ ต.บ้านแอ่น อ.ดอยเต่า จ. เชียงใหม่
โรงเรียนบ้านหนองบัวคำเดิมอยู่หลังวัดหนองบัวคำด้านทิศเหนือ ครูที่จบจากโรงเรียนบ้านหนองบัวคำและย้ายขึ้นมาหลังน้ำท่วมได้แก่ ๑.พ่อครูเสาร์ เขียวมัง ๒. พ่อครูต่อน ปันจันทร์ ๓.พ่อครูนำ กุณาหย้อง ๔. พ่อครูต่วน เขียวมัง ๕. พ่อครูปริญญา เขียวมัง. ๖. พ่อครูประดิษฐ์ เมธาสุข ต้นมะม่วงคำ หนึ่งเดียวในโลก คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าที่ท้ายหมู่บ้านมีต้นมะม่วงต้นหนึ่งขนาดสองคนโอบ มีลูกเป็นสีเหลืองทอง ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่าต้นมะม่วงคำ ต้นมะม่วงต้นนี้มีรอยพระบาทพระพุทธเจ้าตามต้นมะม่วงโดย มีรอยขึ้นทางด้านทิศตะวันออกและมีรอยลงทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า สมัยพุทธกาลองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ ณ ที่แห่งนี้ พระองค์ได้ฉันมะม่วงแล้วโยนเมล็ด ทิ้งลงดินมะม่วง เมล็ดนั้นได้งอกงามเจริญเติบโตเพียงต้นเดียวและเป็นที่อัศจรรย์คือไม่สามารถนำเมล็ดไปขยายพันธุ์ได้หรือตอนกิ่งได้ ต่อมามีคนไปตัดโค่นต้นมะม่วงทองคำ แม้จะตัดขาดแล้วต้นมะม่วงก็ยังไม่ล้ม คนตัดต้องทำพิธีขอต้นไม้ถึงจะล้มลง และคนที่ตัดต้นไม้ก็มีอันเป็นไปเช่นกัน. อาชีพของชาวบ้านหนองบัวคำ ในอดีต คืออาชีพทำนา เลี้ยงครั่ง เลี้ยงวัว หาของป่า การทำนาคนหนองบัวคำจะใช้หลุกวิดน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าไปแปลงนาโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องสูบน้ำแต่อย่างใด
ปัจจุบันชาวบ้านหนองบัวคำ มีการย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่อยู่ออกไป เนื่องจากระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ถนน ประปา ไม่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต จะเหลือเพียงชาวบ้านที่มีไร่ สวน สัตว์เลี้ยง ที่ยังคงใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม อยู่ประมาณ 30 ครัวเรือนเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก พ่อครูประดิษฐ์ เมธาสุข ,พ่อจันทร์ตา ยานะ วัดบ้านหนองบัวคำ
ที่ตั้งเดิมหมู่บ้านตามคำบอกเล่า
เคยสอนที่รร.ดอยเต่าวิทยาคม ตั้งแต่ปี 2520 และได้ย้ายกลับภูมิลำเนา ไปสอยที่ รร.ยุพราชวิทยาลัย ตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ดอยเต่า รู้สึกประทับใจทั้งผู้คน นักเรียน ชาวบ้าน ได้พบเจอเหตุการณ์ต่างๆ ทุกวันนี้ เมื่อมีโอกาสจะพยายามไปเยี่ยมดอยเต่า ไปแต่ละครั้งจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของดอยเต่า มีการพัฒนาขึ้นมาก จากที่ใช้ไฟฟ้าปั่นเป็นช่วงเวลา ถนนดินลูกรัง สะพานไม้ ปัจจุบันเป็นอำเภอที่น่าอยู่อาศัย น่าท่องเที่ยว ขอบคุณทุกสิ่ง และสวัสดีดอยเต่าค่ะ