บ้านท่าเดื่อ หมู่ที่ ๔ ตำบลท่าเดื่อ อำเภอ ฮอด จังหวัด เชียงใหม่ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง มีประชากร ๒๕๐ หลังคาเรือน ตั้งอยู่เรียงรายยาวตามลำน้ำปิง ทิศเหนือจดป่าช้าของหมู่บ้าน ทิศใต้จดสวนไม้ฉำฉา ทิศตะวันออกจดที่นา ทิศตะวันตก จดลำน้ำปิง จากเหนือสุดถึงใต้สุดมีความยาว ประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร ส่วนกว้างที่สุดประมาณ ๘๐๐ เมตร ส่วนแคบประมาณ ๕๐๐ เมตร ภายในหมู่บ้านแบ่งออกเป็น ๓ เขตโดยมีลำคลองกั้นเขตถึง ๒ คลอง เขตเหนือจะเรียกขานกันภายในว่าบ้านโฮ่ง เขตกลางเรียกว่าบ้านกลาง เขตใต้ เรียกว่า บ้านใต้ มีผู้ใหญ่บ้านคนเดียวกัน วัดเดียวกัน โรงเรียนเดียวกัน ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น
อาชีพหลักคือ ทำนาปี โดยอาศัยน้ำฝนและน้ำห้วยแม่ตาล นอกจากการทำนา ก็มีการปลูกยาสูบพันธ์ริชมอนต์ โดยนำไปขายที่บ้านแอ่น อำเภอฮอด จังหวัด เชียงใหม่ เพราะมีโรงบ่มยาสูบ นอกจากนี้มีการปลูกถั่วลิสง โดยต้องนำไปขึ้นรถบรรทุกที่บ้านแอ่นเช่นเดียวกัน แล้วนำไปขายในตัวเมืองเชียงใหม่ การขนส่งลำบากมากสมัยนั้นรถบรรทุกหรือโดยสารคันเดียวกัน บรรทุกทั้งคนทั้งสินค้า เป็นรถแบบคอกหมู

การค้าขายทางน้ำ ได้แก่ การค้าขายทางเรือหรือแพ ล่องไปตามลำน้ำปิง แต่ก็ไม่มากนัก นำสินค้าหรือพืชผลในท้องถิ่น เช่น พริกแห้ง หอมแดง ขี้ยา (ชัน) ครั่ง ฯ ไปขายที่ตาก และปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ตอนขากลับก็ซื้อเกลือ ปลาเค็ม ปลาทูเค็ม และเครื่องใช้อื่นๆขึ้นมา พวกที่ล่องแพไปตอนกลับจะกลับโดยทางรถไฟ ส่วนพวกที่ไปค้าขายทางเรือ จะนำเรือกลับพร้อมด้วยสินค้า ผู้ควบคุมเรือหรือเจ้าของเรือจะเรียกกันว่านายฮ้อย ระยะต่อมาการค้าขายทางเรือจะลดน้อยลง ไม่มีการต่อเรือใหม่ แต่จะขายเรือที่มีอยู่ออกไป น้ำในแม่น้ำปิงเริ่มตื้นเขิน อีกอย่างหนึ่ง การสัญจรไปมาทางบกเริ่มสะดวกขึ้น การคมนาคมทางน้ำจึงเลิกไปโดยปริยาย

ปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลให้ชาวบ้านท่าเดื่ออพยพออกจากเขตน้ำท่วมของเขื่อนภูมิพล ไปอยู่ที่จัดสรรใหม่ในเขตป่าของต.ท่าเดื่อ แต่ชาวบ้านท่าเดื่อส่วนมากไม่ยินยอมไปอยู่ในที่จัดสรรให้ จึงได้แบ่งออกเป็นกลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 อพยพไปอยู่ในที่ที่รัฐบาลจัดสรรให้ ซึ่งก็ได้แก่หมู่บ้านแปลง 5 กลุ่มนี้ควรที่จะได้รับชื่อของหมู่บ้านว่า “ท่าเดื่อ” ตามชื่อเดิมเพราะยินยอมเข้าไปอยู่โดยสมัครใจ มีความเห็นรวมกันว่า หากได้รับความเดือดร้อน ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วยดี
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับการชดเชยค่าที่ดินหรือมีที่นามาก มีเงินพอประมาณ มีฐานะดีอยู่แล้วจึงพากันย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในถิ่นเจริญในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอเชียงดาว อำเภอเมือง และอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
กลุ่มที่ 3 อพยพไปอยู่ในเขต ตำบล ดอยเต่า และในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในบางท้องที่มีชาวบ้านท่าเดื่ออพยพเข้าไปทำมาหากินอยู่ก่อนแล้วก่อนที่ชาวบ้านจะอพยพเข้าไปอยู่ใหม่ โดยมีความเห็นว่า มีที่ทำมาหากินตัวเองอยู่แล้ว ส่วนมากจะเข้าไปอยู่ตามหมู่บ้านเล็กๆ ค่อนข้างห่างไกลจากถิ่นเจริญ ทางคมนาคม ปัจจุบันทราบว่าได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากทางราชการเป็นอย่างดี การสัญจรไปมาสะดวกสบายขึ้น
กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ ไม่ยอมอพยพเข้าไปอยู่ในที่จัดสรรแปลง 5 โดยมีความเห็นร่วมกันว่า สถานที่ตั้งหมู่บ้านแปลง 5 นั้นกันดารน้ำ จึงพร้อมใจกันเลือกไร่ร้างของชาวกะเหรี่ยง เป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ใกล้กับดอยหิน และดอยทอก บริเวณแถวนี้แต่เดิมเรียกกันว่า “ดงสักงาม” ขณะที่ชาวบ้านเข้ามาตั้งหมู่บ้านเหลือสักไม่กี่ต้น วัดท่าเดื่อ ก็โยกย้ายตามชาวบ้านกลุ่มนี้ ในขณะนั้นพระมหาทอง ยามเวที รักษาการเจ้าอาวาส เหตุผลที่วัดไม่โยกย้ายไปตามกลุ่มที่ 1 นั้น เพราะขณะนั้นทางราชการไม่ต้องการให้มีวัดมาก บำรุงไม่ทั่วถึง บ้านชั่ง ท่าครั่ง หนองบัวคำ ท่าเดื่อ (แปลง 5) ให้รวมเป็นวัดเดียวหรือเหลือวัดเดียว คือวัดบ้านชั่ง(แปลง 8) ปัจจุบันนี้
ชาวบ้านช่วยกันจัดสร้างหมู่บ้านขึ้น โดยมีนายสม หมื่นแยง เป็นหัวหน้ากลุ่ม อาศัยน้ำในลำห้วยแม่ตาล เป็นน้ำอเนกประสงค์ เมื่อจัดสร้าง หมู่บ้านเสร็จแล้ว ได้ประชุมปรึกษากันว่า จะตั้งชื่อหมู่บ้านนี้อย่างไร มีผู้เสนอชื่อกันหลายชื่อว่า บ้านดงสักงาม บ้านดอยหิน บ้านสมพัฒนา บ้านสมนิมิต บ้านอุทุมพรดิตถ์(ท่าเดื่อ) และบ้านศรีสมบูรณ์ ตอนทำพิธีตั้งหมู่บ้านนั้น หลวงพ่อพระครูอดุลญาณสุนทร (จันทร์ เตโช) เจ้าคณะตำบลท่าเดื่อ ในขณะนั้น ได้มาเป็นประธานสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พระอาจารย์คำมูล สุจิตโต (อินทจักร) ได้เลือกชื่อบ้านศรีสมบูรณ์ เป็นชื่อบ้านใหม่ เนื่องจากมีความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน จึงไม่มีใครคัดค้านตกลงว่าบ้านนี้ชื่อบ้าน “ศรีสมบูรณ์”
เมื่อมีหมู่บ้านแล้ว ก็ต้องมีวัด มีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านพร้อมใจกันช่วยกันจัดสร้างวัดและสร้างโรงเรียน แบบชั่วคราวขึ้นก่อนด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน วัดและโรงเรียนอยู่ภายในบริเวณเดียวกัน ครูคนแรกที่เข้ามาสอนคือ นายปั๋น อาศนะ ซึ่งเคยเป็นครูของโรงเรียนประชาบาลบ้านท่าเดื่อมาก่อน แต่อาจารย์ปั่น อพยพเข้าไปอยู่กับหมู่บ้านแปลง 5 อาจารย์ปั๋นไม่ได้ถามทางวัดและกรรมการหมู่บ้านว่าบ้านนี้ชื่ออะไร แต่ได้ถามผู้ เฒ่าผู้แก่บางคน ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า บ้านหนองผักบุ้ง อาจารย์ปั๋น จึงเขียนป้ายโรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านหนองผักบุ้ง หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อตามโรงเรียนว่า บ้านหนองผักบุ้ง มาถึงทุกวันนี้