ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำแม่หาด
น้ำแม่หาด เป็นแม่น้ำขนาดเล็ก มีน้ำไหลตลอดปี ขุนน้ำอยู่ในเขตตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ไหลจากยอดเขาผ่านตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ตำบลโปงทุ่ง ตำบลดอยเต่า อำเภอดอยเต่า ไหลลงสู่น้ำแม่ปิงในเขตตำบลท่าเดื่อ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ รวมเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร
น้ำแม่หาดเป็นเสมือนสายเลือดของคนดอยเต่า โดยเฉพาะดอยเต่าด้านทิศใต้ พื้นที่ตำบลโปงทุ่ง ตำบลดอยเต่า ได้ใช้น้ำแม่หาดหล่อเลี้ยงชีวิตมาโดยตลอด ไม่ว่าจะใช้บริโภคอุปโภค ใช้ในการเกษตร ทำนาปลูกข้าว ทำสวนลำไยสวนหอม สร้างรายได้ให้กับคนดอยเต่านับเป็นเงินหลายสิบล้านบาทต่อปี และยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งกุ้งหอยปูปลา ให้คนดอยเต่าจับกินเป็นอาหารตลอดทั้งปี
นอกจากน้ำแม่หาดจะเป็นสายน้ำที่เปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนดอยเต่าแล้ว ยังเป็นแหล่งอารยะธรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของภาคเหนือ เนื่องจากมีร่องรอยการถลุงเหล็ก และซากปรักหักพังสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะซากปรักหักพังของวัดวาอารามของคนยุคก่อน ๆ ตั้งอยู่เรียงรายไปตามสายน้ำ เริ่มแต่ขุนน้ำแม่หาดจนถึงปากแม่น้ำแม่หาดบริเวณลุ่มน้ำแม่ปิงเลยทีเดียว
อารยธรรมลุ่มน้ำแม่หาดตอนบน
พ่อหลวงตัน อดีตผู้ใหญ่บ้านผาต้าย หมู่ ๑ ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านอายุ ๗๘ ปี ได้เล่าถึงความเป็นมาของหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำแม่หาดตอนบน ซึ่งมีบ้านผาต้ายหมู่ที่ ๖ บ้านผาต้าย หมู่ ๑ บ้านหนองมะล้อ บ้านห้วยทรายขาว บ้านแม่ลาน บ้านแม่ก๋องวะ รวมถึงบ้านกองวะ ล้วนเป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ทั้งสิ้น อายุของแต่ละหมู่บ้านน่าจะไม่ถึง ๑๐๐ ปี บ้านผาต้ายหมู่ ๖ เป็นหมู่บ้านแรก ๆ ที่มาตั้งรกรากบริเวณลุ่มน้ำแม่หาดแห่งนี้ เดิมมาอาศัยอยู่เพียงสามหลังคา เพื่อมาเป็นคนงานส่งอาหารให้ฝรั่งสองพี่น้องซึ่งมาสัมปทานไม้สักบริเวณนี้ พ่อหลวงตันเล่าว่า บริเวณนี้เป็นดงป่าไม้สักที่อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้สักบางต้นห้าคนโอบไม่จอด คนงานที่มารับจ้างขนไม้ซุงด้วยล้อ จะขนไม้ซุงล่องไปตามน้ำแม่หาดไปส่งที่แม่น้ำปิง จากนั้นฝรั่งเขาจะทำแพไม้ซุงปล่อยลงน้ำ ให้ไหลลงตามน้ำปิง จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ออกสู่อ่าวไทย ตามลำดับ
การขนย้ายไม้ซุงในสมัยนั้นจึงเป็นที่ไปที่มาของบ้านหนองมะล้อ คือ เดิมเขาเรียกว่า หนองพักล้อ คนงานขนไม้ซุงไปพักล้อ พักวัว บริเวณหนองน้ำ จึงเรียกว่า หนองพักล้อ แต่ปัจจุบันเพี้ยนเป็นหนองมะล้อ จริง ๆ แล้วเวลานั้นมีบ้านผาต้ายหมู่ที่ ๖ เพียงหมู่บ้านเดียว บ้านอื่น ๆ ยังไม่มี บริเวณแถบนี้มีแต่ดงไม้สัก หลังจากฝรั่งตัดไม้ไป ผืนที่ป่ากลายเป็นที่โล่งเตียน เหมาะกับการเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ทำนาทำไร่ ผู้คนจากตำบลลี้ บ้านป่าหกน้อย บ้านป่าหกหลวง บ้านม่วงคำ บ้านม่วงสามปี๋ จากอำเภอเถินจังหวัดลำปาง ได้ย้ายมาจับจองที่ทำมาหากินพัฒนาเป็นหมู่บ้าน เช่น บ้านหนองมะล้อ บ้านห้วยทรายขาว บ้านแม่ลาน อายุการตั้งหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านคงไม่เกิน ๖๐ ปี ส่วนบ้านผาต้ายหมู่ ๑ เป็นหมู่บ้านที่ขยับขยายจากบ้านผาต้ายหมู่ ๖ อายุคงไม่เกิน ๖๐ ปีเช่นกัน
บ้านแม่ก๋องวะหมู่บ้านเดียวที่โยกย้ายหนีน้ำท่วมจากบริเวณลุ่มน้ำปิง ในปี ๒๕๐๗ คนในหมู่บ้านย้ายมาจากหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านโท้ง บ้านหนองบัวคำ บ้านท่าครั่ง บ้านชั่ง บ้านท่าเดื่อ ได้เข้ามาอยู่สมทบกับคนอำเภอลี้ที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อนแล้ว อายุการตั้งหมู่บ้านก็คงไม่เกิน ๖๐ ปีเช่นกัน ถัดจากบ้านแม่ก๋องวะลงมาตามแม่น้ำแม่หาด จะเป็นบ้านกองวะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเดียวที่อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ บ้านกองวะเดิมเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยง ภายหลังมีคนพื้นเมืองย้ายมาอยู่สมทบ เท่าที่ทราบก็ยังถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านสร้างใหม่เหมือนกัน
ถึงแม้ว่าจะเป็นหมู่บ้านที่สร้างใหม่ อายุไม่เกิน ๖๐ ปี บ้านผาต้ายหมู่ ๖ อายุไม่เกิน ๑๐๐ ปี แต่ทุกหมู่บ้านดังกล่าว สามารถเล่าถึงอารยธรรมเก่าแก่ให้ฟังทุกหมู่บ้าน เช่น บ้านผาต้ายหมู่ ๖ จะอยู่ใกล้กับขุนแม่หาดมากที่สุด จะมีวัดรอยบ่าตะ หนองจอกหรือรอยพระพุทธบาทหนองจอก ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านผาต้ายทั้งสองหมู่บ้านให้การสักการะบูชาทุกปี
มีถ้ำเก่าแก่ ชื่อว่าถ้ำอิด ปากถ้ำจะมีอ่างน้ำลึกมากและมีน้ำอยู่เต็มตลอดทั้งปีไม่เคยแห้ง เหมือนกับว่าเป็นอ่างน้ำเป็นสิ่งกรีดขวางป้องกันไม่ให้คนข้างนอกเข้าในถ้ำได้โดยง่าย (คนโบราณเรียกว่ายนต์น้ำ เป็นการป้องกันสิ่งของด้วยเวทมนต์คาถา ไม่ให้คนเอาสิ่งของมีค่าที่อยู่ในถ้ำได้ง่าย) ถ้าใครจะเข้าในถ้ำต้องสร้างแพข้าม ถ้าหากคิดไม่ดี พูดไม่ดี พูดคำหยาบคาย น้ำจะเอ่อท่วมปากถ้ำไม่ให้คนเข้าไปได้ บางครั้งในวันเพ็ญวันพระจะมีเสียงฆ้องเสียงกลองดังออกจากปากถ้ำเป็นประจำ
ด้านทิศตะวันออกของบ้านผาต้ายหมู่ ๑ จะมีรอยพระพุทธบาทผาผึ้ง และได้สร้างวัดพระพุทธบาทผาผึ้งเป็นวัดประจำหมู่บ้านใกล้ ๆ กับบ้านหนองมะล้อ จะมีซากกู่เก่าแก่ตั้งอยู่กลางทุ่ง มีร่องรอยขุดหาของเก่า
สถานที่นี้ลุงอุด ปันโปทา คนบ้านหนองมะล้อ อายุ ๘๒ ปี
เล่าว่าบางครั้งจะได้ยินเสียงฆ้องเสียงกลองในวันศีลวันพระจากบริเวณนี้ คุณลุงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนโบราณชนเผ่าลั๊วะ ชาวบ้านหนองมะล้อไม่กล้าที่จะมายุ่งเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ เนื่องจากกลัวผีทำร้าย
ทางด้านทิศตะวันออกของบ้านหนองมะล้อจะมีถ้ำน้ำดิบขี้หม่า ในถ้ำจะมีร่องรอยคนอาศัยอยู่ มีซากแกลบและมองตำข้าวและเชื่อว่าเป็นคนลั๊วะหนีศึกสงครามไปหลบซ่อนในถ้ำแห่งนี้ แล้วถูกฆ่าตายภายในถ้ำ คุณลุงยังเล่าว่า คุณลุงมีสวนอยู่บริเวณนั้น ครั้งหนึ่งคุณลุงนอนหลับในตอนกลางวันได้ฝันเห็นผู้หญิงสาวสามคนออกจากถ้ำมาลูบคลำ ไม่นานมีทหารสูงใหญ่สวมหมวกเหล็กออกมาตาม ในฝันเหมือนถูกผีอำ ดิ้นไม่ได้ ร้องก็ไม่ออก ลุงตกใจตื่นด้วยความหวาดกลัว ลุงได้แต่เก็บความฝันไว้เพียงคนเดียวไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง กลัวว่าจะไม่มีใครเชื่อ ลุงอุดยังบอกว่า บนเขาลูกนั้นนอกจากจะมีถ้ำแล้ว ยังมีแร่เหล็ก และแร่คล้ายแก้วใส ๆ มีคนจะมาขอทำสัมปทานชาวบ้านไม่ยอมให้ที่หมู่บ้านห้วยทรายขาวมีหลักฐานสำคัญมาก สามารถบ่งบอกได้ว่ามีคนมาอาศัยอยู่บริเวณนี้มานาน ก่อนที่คนห้วยทรายขาวจะเข้ามาอยู่ เนื่องจากในเขตบริเวณบ้านเลขที่ ๔๗ หมู่ ๗ มีเตาถลุงเหล็กโบราณ (เตาสะกัดหรือแยกเหล็กออกจากก้อนหิน)
อารยธรรมลุ่มน้ำแม่หาดตอนกลาง
ห่างจากบ้านกองวะ ลงมาตามน้ำแม่หาดเป็นระยะทาง ๙ กิโลเมตร จะเป็นกลุ่มหมู่บ้านอีกกลุ่มหนึ่ง อยู่ในเขตการปกครอง ตำบลโปงทุ่ง อำเภอดอยเต่า จะมีบ้านโปงทุ่ง บ้านโปง (บ้านโปงท่า) บ้านหนองเหม็น บ้านงิ้วสูง บ้านสันบ่อเย็น บ้านเกาะหลวง กลุ่มหมู่บ้านนี้จะมีคนอยู่ ๒ เผ่า คือหมู่บ้านที่เป็นคนพื้นเมือง(คนไต) และชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง(คนยาง) มีบ้านโปงทุ่ง บ้านโปง บ้านสันบ่อเย็น เป็นหมู่บ้านคนพื้นเมืองเป็นหมู่บ้านสร้างใหม่ภายหลังน้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗

ลุงก่ำ ชาวบ้านเกาะหลวง อายุ ๘๙ ปี ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับชาวกะเหรื่ยง
ลุงก่ำ ชาวบ้านเกาะหลวง อายุ ๘๙ ปี ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับชาวกะเหรื่ยง เพราะคนในหมู่บ้านส่วนมากได้อพยพหนีน้ำท่วมจากบ้านท่าครั่ง บ้านชั่ง บ้านแอ่น บ้านหาดหยวก บ้านหนองบัวคำ อายุการสร้างหมู่บ้านคงไม่เกิน ๖๐ ปี ส่วนบ้านเกาะหลวง บ้านหนองเหม็น บ้านงิ้วสูง บ้านดอยเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง โดยเฉพาะบ้านเกาะหลวงจะมาอยู่ก่อนคนพื้นเมือง น่าจะมีอายุการตั้งบ้านเรือนมากกว่า ๖๐ ปี บอกไม่ได้ว่านานแค่ไหน แต่ไม่น่าจะเกิน ๑๒๐ ปี
บริเวณแห่งนี้พอจะมีแหล่งอารยธรรมเก่าแก่อยู่รอบ ๆ หมู่บ้านบ้าง แต่เป็นของคนรุ่นก่อนที่สร้างไว้ เช่น วัดทุ่งป่าตาล วัดทุ่งโขง เวลานี้มีแต่ซากอิฐ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมรกทึบขาดการดูแลรักษา มีน้อยคนที่จะกล้าเสี่ยงไปขุดค้นของเก่าในวัดร้าง เนื่องจากกลัวผี เพราะคนเก่าคนแก่ในหมู่บ้านเล่าว่า คืนวันเดือนเพ็ญมักจะมีเสียงฆ้องเสียงกลองดังจากวัดร้างเป็นประจำ ทำให้คนส่วนมากขยาดกลัวไม่กล้าไปยุ่งเกี่ยว คงทิ้งไว้ให้อยู่ตามสภาพของมัน ลุงก่ำ ชาวกะเหรี่ยง อายุ ๘๙ ปี ได้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดวาอารามของคนลัวะ เนื่องจากบริเวณทุ่งนาในย่านนั้นเคยมี โป่ง ที่สัตว์เลี้ยงของพวกชาวบ้านเกาะหลวงไปกินดินโป่งติดโคนดินโป่งตายเป็นประจำ คนเฒ่าคนแก่เรียกโป่งนี้ว่า โป่งลัวะ วัดวาอารามบริเวณนี้ก็น่าจะเป็นของลัวะเช่นกัน
บริเวณวัดบ้านโปงท่า เคยเป็นบริเวณของวัดเก่าแก่ ชาวบ้านเรียกว่าวัดปู่จื๊อ อยู่ติดกับน้ำแม่หาด มีซากเศษก้อนอิฐอยู่ในทุ่งนารอบ ๆ วัด และได้มีการปรับพื้นที่บริเวณวัดร้าง พบพระพุทธรูปโบราณ จำนวนหนึ่ง ขณะนี้ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรเป็นที่เรียบร้อยและเก็บรักษาไว้อย่างดี
นอกจากนี้ยังมีถ้ำเล็ก ๆ อยู่ทางทิศใต้ของบ้านงิ้วสูง ชื่อว่าถ้ำหม้อ มีวัดถ้ำหม้อที่สร้างขึ้นใหม่ อายุคงไม่เกิน ๕๐ ปี ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่หลงเหลือและบ่งบอกว่ามีคนมาอาศัยอยู่บริเวณนี้มาก่อน