ดอยเต่าในอดีต”ตำนานดอยเต่า ตอนที่1”
โดยดร.วิทยา พัฒนเมธาดา
29 ธันวาคม 2561
อีก 2 วัน ดอยเต่าจะครบ 55 ปี หลังชาวดอยเต่าอพยพหนีน้ำท่วม ย้อนเวลากลับไปปี 2500 ดอยเต่าเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอฮอด เส้นทางการคมนาคมทางบกระหว่างดอยเต่ากับฮอดทุรกันดารมาก ลำน้ำแม่ปิงที่ไหลมาจากทางเหนือของเชียงใหม่ผ่านจอมทอง ฮอด ดอยเต่าถือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ
“เดิมคนดอยเต่า จะอาศัยอยู่เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ กลุ่มลุ่มน้ำแม่หาด ซึ่งจะอยู่บนพื้นที่ราบสูงริมน้ำแม่หาด ได้แก่ บ้านดอยเต่าเก่า บ้านไร่ โปงทุ่ง อีกกลุ่มหนึ่งได้แก่ ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่แถบที่ราบลุ่มแม่นำ้ปิง ได้แก่ บ้านแม่กาตะวันตก-ตะวันออก บ้านงิ้วเฒ่าบ้านชั่ง ท่าเดื่อ บ้านน้อย บ้านแอ่น วังหม้อ หนองอีปุ้ม มีหมู่บ้านทั้งเล็กและใหญ่รวมกันถึง 21 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ถึง 54 ตารางกิโลเมตร อาชีพเดิมได้แก่ การเพาะปลูกข้าว ถั่ว ยาสูบ ครั่ง และค้าขาย โดยนำสินค้าใส่เรือแพล่องไปขายทางตอนล่าง แถบเมืองตาก และปากน้ำโพ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2506 เขื่อนภูมิพลสร้างเสร็จเริ่มปิดกั้นน้ำ น้ำได้เอ่อขึ้นมาท่วมพื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำปิง ปี พ.ศ.2507 ชาวบ้านดอยเต่าต้องอพยพขึ้นมาอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการจัดไว้ให้ในเขตนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล จังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงๆ เรียกกันว่า บ้านอพยพแปลงที่เท่านั้นเท่านี้ โดยจัดหมวดหมู่ว่า หมู่บ้านแปลง 1, หมู่บ้านแปลง 2 … แปลงที่เป็นเลขคี่จะตั้งด้านซ้ายมือของถนนแม่ตืน – ดอยเต่า– ฮอด ส่วนด้านขวาเป็นเลขคู่
สมัยก่อนสภาพเศรษฐกิจของเมืองดอยเต่า ไม่แตกต่างไปจากเมืองล้านนาทั่วไป มีการดำรงชีวิตด้วยการทำนา ปลูกข้าว หาปลา เลี้ยงครั่ง ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงอันอุดมสมบูรณ์ การทำนามีการลงแขกช่วยเหลือกัน( ประเพณีฮอมแฮง ) ในบางครั้งก็มีการจ้างงานบ้าง เพื่อนบ้านไม่มีข้าวกินก็หยิบยืมกันได้ เมื่อปลูกข้าวได้ก็นำมาใช้คืนไม่มีดอกเบี้ย เป็นสังคมที่โอบอ้อมอารีย์ มีแต่ความสุข ช่วยเหลือกันไม่แข่งขันกัน ในปี พ.ศ. 2500 ค่าจ้างแรงงานทั่วไปของคนดอยเต่า ตกวันละ 5 บาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์ ข้าวสารราคาลิตรละ 2 บาท เงินที่ใช้ในสมัยนั้นจะใช้เงินใบละ 1 บาท , 5 บาท และ 10 บาท สินค้าที่ขึ้นชื่อของเมืองดอยเต่าในสมัยนั้น คือ ข้าว ครั่ง หอม กระเทียม ปลาแห้ง ถั่วลิสง และอ้อย ใครที่เลี้ยงครั่งในสมัยนั้นจะเป็นผู้มีเงินร่ำรวย
…ในการอพยพจากพื้นเดิมชาวดอยเต่าจะได้ค่าชดเชยที่ดินไร่ละ 400 บาทและต้องไปรับเงินที่อำเภอจอมทองซึ่งสมัยนั้นการเดินทางจากดอยเต่าไปจอมทองลำบากมากต้องไปนอนค้างคืน การจ่ายเงินก็ไม่เป็นระบบชาวดอยเต่าจึงใช้วิธีให้ผู้อื่นไปรับแทนโดยให้ค่าตอบแทนไร่ละ 25-30 บาท (สัมภาษณ์ พ่อจู ไชยวงศ์ , อายุ 96 ปี บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 4 ต. โปงทุ่ง อ. ดอยเต่า จ. เชียงใหม่ ) จะเห็นว่าระบบนายหน้าของชาวดอยเต่ามีมานานแล้ว
ก่อนที่จะนำเสนอเส้นทางการอพยพของชาวดอยเต่าในอดีตจากหมู่บ้านเดิมตามลุ่มแม่น้ำปิงไปยังหมู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่โดยคนรุ่นเก่า ขอนำเสนอประวัติของแต่ละหมู่บ้านและเหตุการณ์ก่อนน้ำจะท่วมบ้านเรือน ไร่ นาให้ทุกท่านได้ทราบตามคำบอกเล่าของผู้สูงวัยที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยจะเริ่มจากบ้านที่อยู่ใต้สุดไล่ขึ้นมาถึงเหนือสุดพอสังเขป …

ติดตาม ตอนที่ 3… ต่อไป. อยากให้ตำนานดอยเต่าสืบทอดสู่ลูกหลาน ให้รักท้องถิ่น ช่วยกันแชร์ ครับ